04

–ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตน–

คำถาม :ทำอย่างไรจึงจะควบคุมไม่ให้ว้าวุ่นน้อยใจ…เมื่อทำความดีแล้วไม่ได้ดี

คำตอบ : อันที่จริงการทำความดีนั้น เราได้มาตามลำดับแล้วคือ

…..ได้ความคิดที่ดี
…..ได้ทำความดี
…..ได้เป็นคนดี
…..ได้ความสุขใจ

แต่ที่เกิดปัญหาขึ้นดังกล่าวนั้น
เพราะคนไปเพ่งเล็งเอาผลที่มากเกินไปบ้าง
ใจร้อนเกินไปบ้าง
ไม่เข้าใจเหตุผลของการทำความดีบ้าง
ความว้าวุ่นใจจึงเกิดขึ้น

ควรตระหนักว่า…
….” การทำความดีเป็นเรื่องของคน
แต่การจะให้ผลเป็นเรื่องของความดี”….

เหมือนกับการปลูกพืชเป็น…..หน้าที่ของคน
แต่การที่พืชจะให้ผลเมื่อไรนั้นเป็น…..หน้าที่ของพืช
และลักษณะของพืชเป็นสำคัญ

เราจะไปบังคับให้ออกดอกออกผล
เมื่อนั้น เมื่อนี้ เป็นงานนอกหน้าที่
และเป็นไปไม่ได้

การจะลดความว้าวุ่นใจในเรื่องนี้อาจทำได้โดย

๑. ทำความดีให้ถูกความดี อย่าให้เกินดี และไม่ถึงความดี

๒. ให้รู้ว่าเมื่อทำความดี เราก็ได้ผลดังกล่าวแล้ว และไม่ควรประเมินความดีของตนให้สูงมากเกินไป อย่างชนิดที่ลงทุนน้อยแต่ต้องการกำไรมาก

๓. สามาถใช้ปัญญาโยงเข้าหาเหตุผล เมื่อตนได้ประสบผลแห่งกรรมได้ ไม่ใช่ไปยกให้เป็นเรื่องของดวง โชค เคราะห์ไปหมอ เพราะสิ่งที่เรียกว่าดวง โชค เคราะห์ หากจะมีก็เป็นเพียงผลแห่งกรรมเท่านั้นเอง หาใช่การดลบันดาลจากอำนาจภายนอกแต่ประการใดไม่

๔. เมื่อทำความดีแล้ว ให้รู้สึกภาคภูมิใจว่า “ความดีเราได้กระทำแล้ว” และทำความพอใจในความดีที่ได้กระทำแล้ว กำลังทำ และจะทำต่อไป อย่าใจร้อนเร่งรัดให้เกิดผลมากนัก เมื่อทำได้ดังนี้ ความว้าวุ่นใจ น้อยใจก็จะหายไปเอง

 

หนังสือ “นักศึกษาสงสัย”
ธรรมนิพนธ์ พระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ)